ซัมเปง เป็นนาฏศิลป์แบบหนึ่งของชาวไทยมุสลิมทางชายแดนภาคใต้ของประเทศไทย ที่มีลีลาการเต้นคล้ายคลึงกับการเต้นรองเง็ง มีผู้สันนิษฐานว่าเป็นการเต้นที่ได้นำเอาลีลาการเต้นระบำแบบฝรั่งชาติสเปนมาผสมผสานกับลีลาการเต้นรำของชาวพื้นเมืองในแหลมมลายู เช่นเดียวกับการเต้นรองเง็ง
จากการสันนิษฐานดังกล่าวนี้ การเต้นซัมเปงจึงอาจเกิดขึ้นได้ ๓ ลักษณะ คือ
ลักษณะที่ ๑
เกิดขึ้นจากการรับวัฒนธรรมจากพ่อค้าชาวสเปนเดินทางเข้ามาติดต่อค้าขายกับบรรดาหัวเมืองมลายู โดยเฉพาะเมืองปัตตานีเป็นเมืองท่าสำคัญแห่งหนึ่งซึ่งอาจเป็นศูนย์กลางในการรับวัฒนธรรมใหม่จากชาวสเปน แล้วเกิดการผสมผสานกับวัฒนธรรมพื้นเมืองเดิม จึงก่อให้เกิดการแสดงออกทางด้านศิลปะการเต้นรำในลีลาใหม่ที่เรียกว่า การเต้นรำแบบสเปน แล้วค่อยๆ เรียกเพี้ยนไปเป็นซัมเปง
ลักษณะที่ ๒
สเปนเป็นชาติตะวันตกชาติหนึ่งที่มายึดครองดินแดนในเอเชียเป็นระยะเวลายาวนาน โดยเฉพาะประเทศฟิลิปปินส์ และสเปนพยายามสร้างฟิลิปปินส์ ซึ่งมีชาวพื้นเมืองเดิมเป็นชาวเกาะที่นับถือศาสนาอิสลามให้เป็นตัวแทนของสเปนในภูมิภาคตะวันออก ด้วยเหตุนี้สเปนจึงนำเอาประเพณี วัฒนธรรม ตลอดจนศาสนาเข้ามาครอบคลุมชาวพื้นเมือง ศิลปะการแสดงตามแบบฉบับของสเปนจึงปรากฏขึ้นในดินแดนของประเทศฟิลิปปินส์และเมื่อชาวพื้นเมืองฟิลิปปินส์ได้มีการติดต่อกับชาวพื้นเมืองมลายูซึ่งนับถือศาสนาอิสลามด้วยกัน จึงทำให้นาฏศิลป์การเต้นซัมเปงซึมซาบเข้ามาในดินแดนมลายู
ลักษณะที่ ๓
การเต้นซัมเปงอาจเป็นศิลปะในราชสำนักของบรรดาสุลต่านตามหัวเมืองมลายูมาก่อน โดยที่ราชสำนักได้รับอิทธิพลทางด้านวัฒนธรรมของชาวสเปนมาจากกลุ่มพ่อค้าอาหรับที่เคยค้าขายกับประเทศสเปนโดยตรง และบรรดาพ่อค้าอาหรับเหล่านี้ ได้นำเอาศิลปะการเต้นระบำของชาวสเปนเข้ามาเผยแพร่แล้วเกิดการผสมผสานกับลีลาการเต้นรำของชาวพื้นเมือง กลายมาเป็นซัมเปง ที่ถ่ายทอดสืบกันมาแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน
วิธีการแสดง
การเต้นซัมเปงเป็นการเต้นคู่ของชายหญิง แต่ไม่ใช่เป็นการพาคู่เต้นแบบลีลาศ หากแต่ต่างคนต่างเต้นเป็นคู่ๆ ไปตามจังหวะของดนตรี
เมื่อดนตรีดังขึ้น คู่ชายหญิงก็จะออกไปแสดงลีลาการเต้นพร้อมกันทั้งหมด และจะเปลี่ยนท่าไปตามทำนองของดนตรีอย่างสวยงามตามลำดับ และในท่าสุดท้ายดนตรีจะรัวเร็วคึกคะนอง ผู้เต้นจะเต้นสะบัดปลายเท้าเร็วมากและยิ่งเร็วขึ้นเมื่อใกล้จะจบเพลง และผู้เต้นจะหยุดลงพร้อมกันเมื่อเวลาเพลงจบพอดี
การแต่งกาย
ในการเต้นซัมเปงนิยมแต่งกายแบบผู้ดีพื้นเมืองคือ ชายจะสวมหมวกซอเก๊าะสีดำหรือโพกผ้าตามแบบพื้นเมือง สวมเสื้อคอกลมแขนยาวสีเดียวกับกางเกงแบบคล้ายกับกางเกงจีน แล้วใช้ผ้าโสร่งเนื้อดีแคบๆ ยาวเหนือเข่าสวมทับกางเกงอีกชั้นหนึ่ง ส่วนผู้หญิงจะทำผมและมีเครื่องประดับผม แต่งหน้าสวยงาม สวมเสื้อแขนกระบอกที่เรียกว่า เสื้อบันดง คือ เป็นเสื้อแบบเข้ารูปปิดตะโพกหรือยาวถึงเข่า ผ่าอกตลอดติดกระดุมทองเป็นระยะ นุ่งผ้าปาเต๊ะยาวกรอมเท้า และยังมีผ้าคลุมไหล่บางๆ สีตัดกับสีเนื้อ
เครื่องดนตรีประกอบ ประกอบด้วยเครื่องดนตรี ๓ ชนิด
๑. มอวูวัส คือรำมะนาขนาดเล็ก ใช้ตีขัดจังหวะ และเพื่อให้จังหวะที่เร้าใจ
๒. คาบูส มีลักษณะคล้ายซอสามสาย แต่มีขนาดยาวเท่ากับแน เครื่องดนตรีที่ให้ทำนองเพลงอย่างไพเราะ
๓. ฆ้อง เป็นเครื่องดนตรีที่ให้จังหวะ
โอกาสที่แสดง
การเต้นซัมเปง ใช้แสดงในโอกาสต้อนรับแขกสำคัญของท้องถิ่น หรือเต้นโชว์เมื่อเวลามีงานรื่นเริง ส่วนสถานที่นั้นอาจจะเป็นบนเวทีหรือในลานบ้านตามแต่ความเหมาะสม และจะแสดงในเวลากลางวันหรือกลางคืนก็ได้
ข้อมูลจาก
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น